ประวัติการก่อสร้างอุโบสถวัดศาลาแดง
อุโบสถวัดศาลาแดงเดิม เป็นไม้ หลังคาสังกะสีอยูทิศเหนือสุดของวัด ติดกับศาลาการเปรียญของวัดในปัจจุบัน ต่อมาเป็นศาลาดิน เป็นที่บำเพ็ญกุศลและที่เรียนของเด็กนักเรียนชั้นป.เตรียม เมื่อวัดมีการเปิดโรงเรียนขึ้น(๑) และเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๓ หลังจากโรงเรียนมีอาคารไม้แล้ว ได้ปรับปรุงเป็นเมรุ ฌาปนกิจเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๓๕ มีเมรุหลังที่ ๒ ขึ้น โดยกำนันบุญธรรม คุณสำเนียง ชันแสงสร้างถวายไว้ ทางทิศตะวันออกของวัด และปี พ.ศ.๒๕๓๘ พระครูสุนทรพิพัฒนโกศล เจ้าอาวาสเห็นสมควรปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อเตรียมสร้างอุโบสถหลังที่ ๓ ขึ้น จึงได้รื้อถอนเมรุหลังที่ ๑ ของวัดออกไป
อุโบสถหลังที่ ๒ เป็นอาคารทรงไทยสมัยนิยม ก่ออิฐถือปูน หน้าบันเป็นไม้สักสลักลวดลาย ขนาด ๕ ห้อง ยาว ๑๗.๕ เมตร กว้าง ๖ เมตร มี ๔ ประตู ฝีมือประณีตบรรจง มีพระประธานเนื้อโลหะงดงามมาก หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ตรงกับสมัยหลวงปู่รอด วัดนายโรง เรียกว่า "หลวงพ่อใหญ่" ซึ่งได้อัญเชิญมาจากวัดนายโรง เขตบางกอกน้อย ธนบุรี โดยพระอธิการผล เกสโร พร้อมด้วยพระภิกษุ และศิษยานุศิษย์ นำเชิญมาทางน้ำ ล่องมาทางคลองบางเชือกหนังโดยเรือชะล่าขุดขนาดใหญ่ของนายฮ้ก ๒ ลำ ผูกเป็นแพ ล่องมาตามคลองถึงวัดโดยสวัสดิภาพ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๕ (๒) และฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗(๓) ค่าก่อสร้าง ๑ หมื่นบาทเศษ ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๘๓ สร้างกำแพงแก้วรอบอุโบสถขึ้น และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ดำเนินการก่อสร้างซุ้มประตูกำแพงแก้ว รอบอุโบสถ ทั้งสี่ทิศ
ประวัติหลวงพ่อใหญ่พระประธานภายในอุโบสถ
หลวงพ่อใหญ่ พระประธานภายในอุโบสถวัดศาลาแดง การอัญเชิญหลวงพ่อใหญ่จากวัดกำแพง บางจาก เมื่อ ปีพ.ศ.๒๔๗๕ โดยล่องมาทางน้ำ เริ่มจากวัดกำแพงบางจาก ล่องคลองบางกอกใหญ่ขึ้นทางทิศเหนือ ผ่านวัดคูหาสวรรค์, วัดวิจิตรการนิมิตร(วัดหนัง) เลี้ยวซ้ายเข้าคลองบางเชือกหนัง ผ่านวัดปากน้ำฝั่งเหนือ, วัดปากน้ำฝั่งใต้, วัดกำแพง บางแวก วัดพิกุล วัดตะล่อม วัดมะพร้าวเตี้ย เข้าคลองทวีวัฒนา มาถึงวัดศาลาแดง ระยะทางน้ำประมาณ ๑๔.๕ กิโลเมตร
ภาพอุโบสถ(หลังเก่า) ก่อนการบูรณปฏิสังขรณ์
ภาพอุโบสถ (หลังเก่า) ภายหลังบูรณปฏิสังขรณ์
บริเวณด้านหลังอุโบสถ
บริเวณด้านหน้าอุโบสถ
บริเวณด้านหน้าอุโบสถ
"หลวงพ่อใหญ่" พระประธานภายในอุโบสถ
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดศาลาแดง
(๑) จากการบอกเล่าของคุณศิริ มีขำ ประธานกรรมการของวัดศาลาแดง
(๒) จากการบอกเล่าของผู้ใหญ่สัมมา มีขำ ที่เล่าสืบต่อมาจากหลวงพ่อผล อดีตเจ้าอาวาส
(๓) จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่อมร รักษา และอาจารย์สังเวียน บุรี